รีวิวเรื่องการสัมภาษณ์วีซ่านักลงทุน E-2 Investor ที่ประเทศไทย

E2 investor visa interview

มีคนสนใจและถามเข้ามาเยอะพอสมควร วันนี้เลยจะมารีวิวเรื่องการสัมภาษณ์วีซ่านักลงทุนที่ประเทศไทย คำถามหลักๆที่กงสุลมักจะถามในการขอวีซ่านักลงทุน E2 Investor มีประมาณนี้นะคะ

  1. ประวัติส่วนตัวของนักลงทุนและประวัติการเดินทางเข้าออกอเมริกา เช่น ปัจจุบันหรือก่อนหน้านี้ทำงานอะไร เคยไปอเมริกาหรือไม่ ถ้าเคย คราวที่แล้วเข้าไปทำอะไรบ้างในอเมริกา คนที่เคยเดินทางเข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว B2 ต้องระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมากเนื่องจากตอนที่คุณเข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว หากคุณแจ้งกับตมว่าจุดประสงค์ในการเดินทางเข้ามาคือเพื่อมาท่องเที่ยวเท่านั้นแต่คุณเข้ามาดำเนินการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวภายใน 90 วันหลังจากเดินทางเข้ามา กงสุลอาจจะเห็นว่าคุณใช้วีซ่าท่องเที่ยวผิดประเภทและอาจทำให้กงสุลปฎิเสธวีซ่านักลงทุนรวมถึงอาจจะยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวไปด้วย ดังนั้น หากคุณต้องการเข้ามาเพื่อดูธุรกิจ คุณควรจะแจ้งตมตั้งแต่ตอนเดินทางเข้ามาเลยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้คนที่จะขอวีซ่านักลงทุนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือเคยทำธุรกิจด้านที่ยื่นขอวีซ่า เช่น หากคุณลงทุนทำร้านอาหารไทยในอเมริกา คุณไม่จำเป็นที่จะต้องมีประวัติการทำธุรกิจร้านอาหารที่ประเทศไทย แต่ต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงสนใจมาลงทุนทำธุรกิจร้านอาหาร

  1. ทำไมถึงสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจดังกล่าวในอเมริกา เช่น ถ้าเป็นการซื้อหุ้นร้านอาหาร ทำไมถึงสนใจเข้ามาซื้อหุ้นร้านอาหารนี้ ถ้าเป็นการเซ้งกิจการต่อจากผู้อื่น ทำไมถึงสนใจซื้อธุรกิจดังกล่าว
  2. รู้จักกับคนขายธุรกิจได้อย่างไร ในกรณีที่เป็นการเซ้งกิจการหรือการซื้อหุ้นในกิจการที่มีอยู่แล้ว
  3. หน้าที่ของคุณจะทำอะไรบ้างหากได้รับวีซ่านักลงทุน เช่น คุณจะเข้ามาบริหารธุรกิจอย่างไร และทำอะไรให้กับธุรกิจบ้าง ทำงานกี่วัน ทำงานร่วมกับใครบ้าง
  4. รายละเอียดทั่วๆไปของธุรกิจในอเมริกา เช่น ที่ตั้งของธุรกิจ บริเวณที่ธุรกิจตั้งอยู่มีอะไรบ้าง รายละเอียดเรื่องพนักงาน ควรจำชื่อพนักงานในบริษัทและตำแหน่งของแต่ละคนให้ได้ สินค้าหรือบริการของธุรกิจคืออะไร กลุ่มลูกค้าและรายได้ รายจ่าย กำไรแต่ละวันเป็นอย่างไร
  5. เงินลงทุนที่นำมาใช้ในการลงทุนได้มาได้อย่างไรและได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น เป็นของขวัญจากคนในครอบครัว โดยที่คนในครอบครัวที่ให้เงินนั้นต้องได้เงินมาอย่างถูกต้องเช่นกัน เงินจากการขายทรัพย์สิน เงินสะสมจากการทำงาน การทำธุรกิจในประเทศไทย การกู้บุคคลหรือสถาบันทางการเงิน หากเป็นการกู้บุคคล มีความสัมพันธ์อย่างไรกับบุคคลดังกล่าว

เงินกู้ สามารถใช้เป็นแหล่งเงินทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ด้วยตนเอง พ่อแม่กู้มาให้หรือคนในครอบครัวเช่นพี่น้องกู้มาให้กัน ทั้งนี้ต้องมีเหตุผลว่าทำไมคนกู้ถึงเอามาให้และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนที่มาลงทุน

  1. ลงทุนไปเท่าไหร่และถือหุ้นกี่ % ถ้าหากมีหุ้นส่วน คุณรู้จักกับหุ้นส่วนได้อย่างไร ในกรณีที่คุณทำธุรกิจแบบ start-up กงสุลอาจจะถามเรื่องค่าใช้จ่ายหลักๆที่ได้ใช้ไปว่ามีอะไรบ้าง
  2. การแต่งตัวควรแต่งตัวให้สุภาพและมีความมั่นใจในการตอบคำถาม ตอบเชิงอธิบายและไม่ใช่ถามคำตอบคำ หากเป็นไปได้ควรทักทายและตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ เพราะในความเป็นจริงเวลาคุณเข้ามาทำธุรกิจในอเมริกาจะต้องพอสื่อสารภาษาอังกฤษได้กับคนอื่นๆ หากตรงไหนที่ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้ขออนุญาตตอบเป็นภาษาไทย

สุดท้ายแล้วการที่กงสุลจะผ่านหรือไม่ผ่านวีซ่าให้นอกจากจะดูเอกสารที่ยื่นไปเป็นหลักแล้วก็จะดูเจตนาและท่าทีของนักลงทุนว่ามีเจตนาที่จะเข้ามาเพื่อทำธุรกิจจริงหรือไม่ เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องทำการบ้าน ศึกษาแผนทางธุรกิจ และรายละเอียดอื่นๆของเคสให้พร้อมที่สุด และตอบคำถามด้วยความมั่นใจและชัดเจน บางเคสถึงแม้ว่าเอกสารจะพร้อมแต่ตอบคำถามแบบไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือก็เป็นเหตุให้โดนปฎิเสธได้ และที่สำคัญคำตอบควรจะสอดคล้องกับเอกสารที่ยื่นเข้าไปด้วย

ขอให้ทุกคนโชคดีค่ะ แล้ววันหลังจะมารีวิวการสัมภาษณ์เคสพ่อครัวแม่ครัว E2 Thai Chef ค่ะ

ข้อมูลข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น สำหรับท่านที่ต้องการคำตอบเฉพาะเคสควรปรึกษาทนายทางด้านอิมมิเกรชั่น

This answer is for general information purposes only and attorney-client relationship is neither intended nor created. You should not rely on this as legal advice. Please consult with an attorney to review your case and provide you with advice specific to your situation.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.globalvisanow.com

Tel: 631 464 8471
Line id: globalvisanow

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *