ถาม ตอบ 4 คำถามสุดฮิตด้านอิมมิเกรชั่น

  1. ถ้าหากอยู่เกินกำหนด (โดด) จะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง

ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าตม อนุญาตให้คุณอยู่ในอเมริกานานแค่ไหน โดยสามารถเข้าเช็คที่ Link นี้ https://i94.cbp.dhs.gov/I94/#/home โดยพิมพ์ ชื่อ วันเกิด เลขที่พาสปอร์ต เพื่อดูว่าคุณสามารถอยู่ในอเมริกาได้ถึงวันที่เท่าไหร่ เมื่อรู้แล้วว่าตม อนุญาตให้อยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ ถึงมาเริ่มดูว่าคุณอยู่เกินกำหนดมานานแค่ไหนแล้ว โดยทั่วไป หากอยู่เกินกำหนดแต่ยังไม่เกิน 180 วัน หากคุณเดินทางออกนอกอเมริกาและจะขอวีซ่าประเภทอื่นเข้ามาใหม่ จะไม่ติดแบน อย่างไรก็ดีคุณควรปรึกษาทนายเรื่องความเป็นไปได้ในการยื่นวีซ่าประเภทอื่นเข้ามาเพราะว่าการอยู่เกินกำหนดจะทำให้เคสมีความซับซ้อนมากขึ้น หากว่าอยู่เกิน 180 วันแต่ยังไม่เกิน 1 ปีจะติดแบน 3 ปีพอเดินทางออกนอกอเมริกา กรณีสุดท้ายคืออยู่เกิน 1 ปีจะติดแบนเป็นระยะเวลา 10 ปีหากเดินทางออกนอกอเมริกา

สำหรับท่านที่อยู่เกินกำหนดและไม่ได้เดินทางออกนอกอเมริกา แล้วต้องการจะยื่นเรื่องเปลี่ยนสถานะในอเมริกาเป็นสถานะอื่น โดยทั่วไปแล้วทำไม่ได้เนื่องจากไม่มีสถานะรองรับในการยื่นขอเปลี่ยนสถานะ (change of status) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่อยู่เกินกำหนดและยื่นขอกรีนการ์ดบางประเภทที่สามารถยื่นขอยกเว้นโทษการอยู่เกินกำหนดได้

  1. ถ้าเข้ามาในอเมริกาด้วยวีซ่าประเภทหนึ่ง สามารถยื่นเรื่องเปลี่ยนสถานะในอเมริกาเป็นอีกประเภทหนึ่งได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้วคุณสามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนสถานะในอเมริกาจากสถานะหนึ่งเป็นอีกสถานะหนึ่งได้ เช่น คุณเดินทางเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยว B2 และต้องการเปลี่ยนสถานะเป็นนักเรียน F1 เพื่อเรียนหนังสือในอเมริกา หรือ เข้ามาเป็นนักท่องเที่ยว B2 และต้องการเปลี่ยนสถานะเป็นนักลงทุน E2 หลังจากที่เข้ามาดูธุรกิจที่สนใจลงทุน ทั้งนี้ควรยื่นเรื่องเมื่อไหร่และมีโอกาสเรื่องผ่านมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับเอกสารที่ยื่นและเหตุผลประกอบ

โดยต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าการเปลี่ยนสถานะในอเมริกาไม่ได้ให้วีซ่าใหม่กับคุณ  เพราะว่าคำว่า วีซ่า และ สถานะ มีความแตกต่างกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น คุณเดินทางเข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว วีซ่าเป็นเพียงเอกสารที่คุณแสดงต่อตมเมื่อคุณเดินทางเข้ามาอเมริกาเท่านั้นเพื่อให้ตมเห็นว่าคุณมีตั๋วที่จะเข้ามาในประเทศอเมริกาได้ (อย่างไรก็ดี มีวีซ่าไม่ได้แปลว่าตมจะต้องให้เข้าประเทศเสมอไป ต้องดูเหตุผลที่จะเข้ามาด้วยว่าจะเข้ามาทำอะไร) พอตมประทับตราให้คุณเข้ามาแล้วคุณจะมี สถานะนักท่องเที่ยว ซึ่งหากคุณต้องการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว คุณสามารถยื่นเรื่องเปลี่ยนสถานะได้แต่ว่าอิมมิเกรชั่น (USCIS) จะไม่ได้ให้หน้าวีซ่าใหม่กับคุณ สมมติว่าคุณยื่นเรื่องขอเปลี่ยนสถานะจากสถานะนักท่องเที่ยวเป็นนักลงทุน เวลาอิมมิเกรชั่นผ่านเรื่องให้ คุณจะได้รับใบอนุมัติเรื่องซึ่งแปลว่าคุณสามารถอยู่ในอเมริกาในสถานะใหม่นั้นได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุมัติเรื่อง (Approval Notice) อย่างไรก็ดี ถ้าคุณเดินทางออกนอกอเมริกาหลังจากที่เรื่องเปลี่ยนสถานะเป็นนักลงทุนผ่านแล้วและต่อมาต้องการเดินทางกลับเข้ามาอเมริกาเพื่อบริหารธุรกิจต่อ คุณจะต้องไปทำเรื่องขอวีซ่านักลงทุนที่สถานฑูตอเมริกาที่กทม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเดินทางเข้ามาอเมริกา คุณไม่สามารถใช้ใบอนุมัติเรื่องเปลี่ยนสถานะแทนหน้าวีซ่าเพื่อแสดงต่อตม

 

  1. ถ้าได้วีซ่าทำงานแล้วสามารถย้ายไปทำงานร้านอื่นหรือบริษัทอื่นได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้ว วีซ่าทำงานชั่วคราวประเภทต่างๆ เช่น E-2/ H1B/ L-1 อนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าทำงานให้กับบริษัทที่ยื่นเรื่องสปอนเซอร์ทำวีซ่าให้คุณมาเท่านั้นและสามารถทำงานได้เฉพาะในตำแหน่งที่ยื่นขอวีซ่ามา เช่น ถ้าหากได้วีซ่าทำงานประเภท E-2 essential skill visa เพื่อมาทำงานให้กับร้านอาหารไทยในอเมริกาชื่อร้าน A คุณไม่สามารถย้ายไปทำงานให้กับร้าน B ได้ ยกเว้นมีการยื่นเรื่องต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อขอย้ายงานและได้รับอนุญาตแล้ว แต่ถ้าคุณมีกรีนการ์ด คุณสามารถทำงานที่ไหนก็ได้และจะเปิดธุรกิจของตนเองก็ได้เช่นกัน

  1. อยากมาทำงานอเมริกา ทำอย่างไร

คำถามนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการขอวีซ่าโดยตรง แต่ว่าคนถามเข้ามาเยอะมากว่าจะขอวีซ่าทำงานมาจากประเทศไทยเลยได้หรือไม่ถ้าอยากย้ายมาทำงานที่อเมริกา

ตามหลักการทั่วไป การขอวีซ่าทำงานชั่วคราวประเภทต่างๆ จะต้องมีนายจ้างในอเมริการองรับงานก่อนถึงจะสามารถยื่นขอวีซ่าทำงานมาได้ บางท่านติดต่อกับนายจ้างโดยตรงและส่ง resume ผ่านการสัมภาษณ์และพูดคุยกันกับนายจ้างหลายครั้งก่อนนายจ้างจะตกลงจ้างงาน บางท่านเข้ามาด้วยวีซ่านักเรียนเพื่อมาเรียนหนังสือและทำความคุ้นเคยกับระบบการทำงานในอเมริกาก่อนและเริ่มหางาน เช่น นักเรียนหลายๆท่านใช้สถานะ OPT (Optional Practical Training) ที่ได้รับหลังจากเรียนจบ เพื่อฝึกงานและแสดงผลงานให้นายจ้างเห็น ถ้าหากผลงานเป็นที่น่าพึงพอใจก็มีโอกาสที่นายจ้างจะยื่นเรื่องสปอนเซอร์ใบทำงานให้

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *