ธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกา

สรุปเรื่องที่ควรจะทราบก่อนที่จะเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกา เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนที่สนใจจะทำธุรกิจร้านอาหารในอเมริกา

1. รูปแบบการลงทุน
การเปิดร้านอาหารมีรูปแบบการลงทุนหลักๆประมาณสามแบบ 1) เข้าไปซื้อหุ้นจากหุ้นส่วนเดิม (share purchase) ของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว หรือ 2) เซ้งร้าน (take-over) หรือ 3) ทำร้านขึ้นใหม่ (start-up) ถ้าหากคุณต้องการขอวีซ่านักลงทุน E2 คุณต้องมีเงินลงทุนประมาณ $40,000 และต้องถือหุ้นอย่างต่ำ 50%

2. พ่อครัวแม่ครัว
สิ่งต่อมาที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาก็คือ เรื่องเชฟหรือพ่อครัวแม่ครัวที่จะเข้ามาทำงานในร้าน การหาเชฟคนไทยที่มีประสบการณ์ทำงานและมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่นความอดทน ซื่อสัตย์ และขยันเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องวางแผนให้ดีเนื่องจากการหาเชฟในอเมริกาไม่ได้ง่ายนัก และถึงจะหาได้แล้วการจะให้คนนั้นทำงานให้กับร้านคุณนานๆก็ไม่ง่ายเช่นกันเพราะว่าการจ้างงานเชฟไทยในอเมริกามีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ร้านอาหารไทยมีมากกว่าจำนวนเชฟ เพราะฉะนั้นเชฟไทยที่มีประสบการณ์ทำงานก็สามารถต่อรองค่าแรงและหางานทำได้ไม่ยากนัก ทางออกหนึ่งที่หลายๆร้านเลือกทำ คือการยื่นใบทำงานให้กับเชฟจากประเทศไทยมาทำงานที่ร้านอาหารตนเองโดยตรง (E2 essential employee visa) เพราะว่าเชฟต้องทำงานให้กับร้านอาหารที่ยื่นสปอนเซอร์ตนเองมาเท่านั้น ทันทีที่เชฟย้ายไปทำงานร้านอื่นโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากอิมมิเกรชั่น (คือยังไม่มีการยื่นเรื่องขอเปลี่ยนร้าน) สถานะทางอิมมิเกรชั่นของเชฟจะขาดทันที

3. การจัดตั้งธุรกิจ จดชื่อทางการค้า ขอเลขที่เสียภาษี
มีการจดทะเบียนธุรกิจหลายประเภทเช่น LLC / Corporation แต่ละรูปแบบเสียภาษีแตกต่างกันไป เมื่อคุณจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้วสามารถไปยื่นขอจดชื่อทางการค้าของร้าน โดยที่แต่ละรัฐจะเรียกการจดชื่อทางการค้าคล้ายๆกัน คือ DBA (Doing Business As) or FBN (Fictitious Business Name) or Certificate of Assumed Name ก่อนจะจดชื่อทางการค้าคุณควรจะเช็คกับระบบก่อนว่าไม่มีร้านที่ใช้ชื่อซ้ำกับคุณ โดยปกติแล้วเวบ Department of State จะมีลิ้งค์ให้เช็คว่ามีร้านใช้ชื่อที่คุณต้องการใช้แล้วหรือยัง ขั้นตอนต่อมา คือ การขอเลขที่เสียภาษีกับกรมสรรพากรของอเมริกา เรียกว่าขอเลขที่ FEIN โดยสามารถเข้าไปขอได้ที่เวบ IRS

4. สถานที่
ปัจจัยที่สี่คือ เรื่อง location ของร้านซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ถ้าร้านตั้งอยู่ใน location ที่ดีและมีกลุ่มลูกค้าเยอะ โอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตย่อมมากไปด้วย คุณต้องศึกษาหาข้อมูลเรื่องสถานที่และย่านที่ตนสนใจลงทุนว่าบริเวณนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่มากน้อยแค่ไหน มีกลุ่มลูกค้าที่ตนเองสนใจหรือไม่ เช่น บางร้านจะเน้นขายกลุ่มนักเรียนในย่านมหาวิทยาลัยก็จะเน้นหา location ในบริเวณของมหาลัย พอได้สถานที่ที่ถูกใจแล้วขั้นตอนต่อมาคือ ขั้นตอนของการยื่นขอเช่าสถานที่ต่อเจ้าของสถานที่ (landlord) ซึ่งโดยมากแล้ว landlord มักจะให้กรอกเอกสารและขอ social security number ของคุณและหุ้นส่วนธุรกิจ (ในกรณีที่มีหุ้นส่วน) เพื่อไปทำ credit check

การทำ credit check คือการตรวจสอบว่าคุณมีประวัติทางการเงิน (credit score) อย่างไร ที่ผ่านมาชำระเงินต่อเจ้าหนี้ เช่นพวก credit card/mortgage/car loan ตรงเวลาหรือไม่ ถ้าหากคุณมีเครดิตที่ดีก็มีโอกาสที่ landlord จะให้คุณเช่าสถานที่สูง ทั้งนี้ สำหรับท่านที่ไม่มี credit score เพราะยังไม่มีเลข social security number บางที่ landlord ก็อาจจะอะลุ่มอล่วยให้โดยการขอให้คุณวางมัดจำ (security deposit) หลายๆเดือนเพื่อเป็นการประกันค่าเช่าหรือให้มีคนค้ำประกันสัญญาเช่า landlord บางท่านก็อาจจะให้คนขายร้านช่วยค้ำประกันสัญญาเช่า ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณและผู้ขายธุรกิจต้องเจรจากัน นอกจากนี้ ถ้าโชคดีและเจอ landlord ที่ใจดีหน่อย landlord อาจจะให้คุณจ่ายค่าเช่าแค่ครึ่งเดียวหรือไม่จ่ายเลยในเดือนแรกที่มีการ soft opening ของร้าน ตรงนี้คุณต้องต่อรองในช่วงการเซ็นสัญญาเช่าเช่นกัน

บางท่านต้องการเข้ามาลงทุนในอเมริกาเพื่อนำบุตรมาเรียนหนังสือในอเมริกาก็อาจจะเลือกที่ตั้งร้านที่ใกล้กับบ้านที่พักอยู่เพื่อจะได้เดินทางสะดวก ชื่อเสียงและ rating ของโรงเรียนของลูกจึงเป็นอีกปัจจัยนึงที่หลายๆท่านใช้ในการพิจารณาและเลือก location ของร้านที่จะทำธุรกิจ โดยที่คุณสามารถเข้าไปที่เวบ www.greatschools.org and www.schooldigger.com เพื่อดูว่าโรงเรียนที่สนใจมี rating อย่างไร

5. ใบอนุญาตต่างๆ
ก่อนจะเปิดร้านอาหารได้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตหลายๆประเภท เช่น Business License/ Health Permit/ Liquor License ขั้นตอนการขอใบอนุญาตเหล่านี้แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของร้านอาหารว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหนในเมืองและรัฐนั้น แต่โดยมากแล้วใช้เวลาค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทั้งนี้คุณต้องวางแผนเรื่องวันที่เปิดร้านให้ดีเนื่องจากหน่วยงานราชการมักจะมีคิวในการรอและคุณต้องทำนัดเป็นระยะเวลาหลายอาทิตย์ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจร้านอาหารและออกใบอนุญาตให้

6. แผนธุรกิจและการตลาดของร้าน
คุณต้องมีแผนธุรกิจ (Business Plan) ที่ชัดเจนและมีการประมาณการรายได้ไว้ว่ากี่ปีถึงจะคืนทุน รายได้ต่อปีและค่าใช้จ่ายต่อปีเท่าไหร่ โดยมากแล้ว landlord จะขอดูแผนทางธุรกิจด้วยก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะให้คุณเช่าร้านหรือไม่ นอกจากนี้ร้านอาหารไทยในอเมริกาส่วนมากอาศัยรีวิวจากลูกค้าทางสื่อออนไลน์ เช่น yelp/zagat/ trip advisor/urbanspoon/google review ในการชักชวนลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพราะฉะนั้นคุณต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้กับลูกค้าและอาจจะมีโปรโมชั่นเช่น ให้ลูกค้า check-in และแถมของหวานหรือมีบัตรส่วนลดให้ เป็นการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับร้าน หลายๆร้านอาจจะมีจุดเด่นหรือเมนูเด่นของร้านที่ใช้ในการโปรโมทร้านและทำให้ร้านแตกต่างไปจากคู่แข่ง เช่น อาหารอีสาน ของหวานไทยๆ

7. ใจรัก
สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมีคือใจรักในการทำร้านอาหารและสนุกไปกับมัน การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรย่อมมีเรื่องท้าทายเสมอ แต่ถ้าหากคุณมีใจรักแล้วคุณจะมีความสุขในการทำงานและสามารถจัดการกับความท้าทายหรือปัญหาได้ดี ลูกค้าสำนักงานเราหลายๆร้านมียอดขายถล่มทลายมากเพราะจับตลาดได้ถูกทางและมีความตั้งใจในการทำอาหารไทยเพื่อให้คนต่างชาติได้ลิ้มรสกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *