การยื่นขอวีซ่า E2 Chef ให้พ่อครัว แม่ครัว

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนยื่นขอวีซ่าหรือขอเปลี่ยนสถานะประเภทนี้

1. คุณสมบัติของผู้สมัคร
หลักๆเลยผู้สมัครควรจะต้องมีประสบการณ์ทำงานครัวไทยและมีหนังสือรับรองการทำงานเพื่อพิสูจน์ว่าเคยทำงานจริง โดยประสบการณ์ดังกล่าวจะเป็นประสบการณ์ทำงานจากประเทศไทยเท่านั้นหรือจะเป็นประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศด้วยก็ได้ ถ้าหากไม่มีประสบการณ์ทำงานด้านนี้เลยแต่ว่าเรียนจบมาทางด้านการทำอาหารก็มีโอกาสขอวีซ่าผ่าน ทั้งนี้ต้องให้ทนายช่วยรีวิว Resume ของผู้สมัครเพื่อประเมินโอกาสในการได้วีซ่า ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมาก แต่ควรจะพูดทักทายพอได้เพราะจำเป็นต้องสื่อสารได้บ้างเวลาไปสัมภาษณ์วีซ่าในกรณีขอวีซ่าจากประเทศไทย ถ้าหากยื่นขอเปลี่ยนสถานะในอเมริกา เวลายื่นเรื่องเป็นการยื่นเอกสารเข้าไปที่อิมมิเกรชั่นเท่านั้นและไม่มีสัมภาษณ์

2. ระยะเวลาในการเตรียมวีซ่าและรอผล
แบ่งการยื่นออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือยื่นขอวีซ่าจากประเทศไทยที่สถานฑูตอเมริกาที่กรุงเทพ ใช้เวลารวมแล้วประมาณหนึ่งเดือนครึ่งสำหรับเคสที่เอกสารพร้อม โดยสามารถยื่นเรื่องได้ทันทีที่วีซ่าของนักลงทุน E2 investor ผ่าน กลุ่มที่ 2 คือ สำหรับคนที่ต้องการยื่นขอเปลี่ยนสถานะในอเมริกา (สำหรับคนที่เข้ามาเป็นนักเรียน นักท่องเที่ยว หรือเข้ามาด้วยสถานะอื่นๆและต้องการเปลี่ยนสถานะเป็น E2 chef ในอเมริกา) ทั้งนี้การเปลี่ยนสถานะในอเมริกามีการยื่นสองประเภท คือยื่นเรื่องแบบด่วน (premium processing) จะทราบผลภายใน 15 วันทำการหลังจากยื่นเรื่องและยื่นเรื่องแบบธรรมดา (regular processing) ทราบผลหลังยื่นเรื่องประมาณ 3-6 เดือน

3. สัญญาจ้างงาน และระยะเวลาการทำงานกับนายจ้าง
ในสัญญาจ้างงานจะมีการระบุรายได้ต่อชั่วโมงที่เชฟจะได้รับจากการทำงาน โดยค่าแรงต่อชั่วโมงต้องไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำในรัฐที่ร้านอาหารตั้งอยู่ สามารถเข้าเช็คได้ที่เวบนี้ https://www.dol.gov/whd/minwage/america.htm และสิทธิประโยชน์อื่นๆที่นายจ้างตกลงให้ เช่น มีที่พัก อาหาร วันหยุด วันลา และเงื่อนไขอื่นๆตามที่ตกลงกัน โดยที่สัญญามักจะกำหนดวันเริ่มงานและระยะเวลาของสัญญาไว้ด้วยว่าจะจ้างงานเป็นระยะเวลากี่ปี และต่ออายุสัญญาได้หรือไม่ เชฟที่เดินทางเข้ามาแล้วต้องทำงานให้กับนายจ้างที่ยื่นเรื่องสปอนเซอร์ตนเองมาเท่านั้น ห้ามทำงานให้กับนายจ้างอื่น ยกเว้นมีการยื่นเรื่องต่ออิมมิเกรชั่นขอย้ายที่ทำงาน (E2 change of employer) หากต้องการย้ายที่ทำงาน นายจ้างใหม่จำเป็นจะต้องมีหุ้นส่วนหรือเจ้าของร้านถือวีซ่าหรือสถานะนักลงทุน E2 investor เท่านั้นถึงจะยื่นเรื่องสปอนเซอร์เชฟไปทำงานที่ร้านได้ ร้านที่เจ้าของร้านถือกรีนการ์ดหรือเป็น US citizen ไม่สามารถยื่นเรื่องสปอนเซอร์เชฟที่เข้ามาด้วยวีซ่า E2 chef ได้

ถ้าอยู่ๆเชฟออกจากที่ทำงานเดิมที่ยื่นเรื่องสปอนเซอร์มาและไปทำงานร้านใหม่โดยยังไม่มีการยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนายจ้าง เท่ากับสถานะทางอิมมิเกรชั่นของเชฟขาดทันที หากจะยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนายจ้างหลังจากออกจากที่ทำงานเดิมแล้วควรขอคำปรึกษาจากทนายความเพื่อจะได้ทราบถึงทางเลือกและความเป็นไปได้ในการยื่นขอวีซ่าหรือสถานะใหม่

4. โอกาสในการอนุมัติเรื่อง
รัฐบาลนี้ค่อนข้างเน้นเรื่องประสบการณ์ทำงานของผู้ที่ยื่นขอวีซ่า โดยต้องดูว่าตำแหน่งที่จะเข้ามาทำงานและประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้สมัครมีความคล้ายคลึงกันมากน้อยแค่ไหน และความจำเป็นในการจ้างงานแรงงานจากประเทศไทยของนายจ้าง อีกทั้งขนาดของธุรกิจที่จ้างงานก็มีผลต่อการอนุมัติวีซ่าเช่นกัน หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้ามากและมีรายได้ต่อปีสูงย่อมมีความจำเป็นในการจ้างแรงงานที่มีทักษะเฉพาะหลายตำแหน่งจากประเทศไทย ส่วนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง จะยื่นขอวีซ่าให้พนักงานมาได้ตามความจำเป็นและขนาดของธุรกิจ

5. ครอบครัวและบุตรของเชฟที่อายุไม่เกิน 21 ปี
สามารถยื่นเรื่องขอติดตามมาอยู่อเมริกาด้วยได้ จะยื่นเรื่องพร้อมกันกับเชฟหรือจะยื่นขอติดตามมาภายหลังก็ได้ โดยที่บุตรจะได้เข้าเรียนฟรีในโรงเรียนรัฐบาลในเขตที่อยู่อาศัย ส่วนคู่สมรส สามารถยื่นขอใบทำงานและทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานให้กับนายจ้างที่ยื่นเรื่องสปอนเซอร์มา สมาชิกในครอบครัวท่านอื่นๆเช่นคุณพ่อ คุณแม่ พี่น้อง ไม่สามารถยื่นเรื่องติดตามได้ แต่ขอวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อมาเยี่ยมได้หลังจากวีซ่าของเชฟผ่านแล้ว

6. การยื่นขอเปลี่ยนสถานะหรือวีซ่าเป็นนักลงทุนภายหลัง
เชฟหลายๆท่านเข้ามาทำงานเก็บเงินและประสบการณ์แล้วก็อยากจะต่อยอดด้วยการทำธุรกิจและเป็นนายตัวเอง เชฟหรือแม้กระทั่งคู่สมรสของเชฟสามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนสถานะเป็นนักลงทุน E2 investor ในอเมริกาได้เลย หรือว่าจะกลับไปยื่นขอวีซ่านักลงทุนจากประเทศไทยก็ได้ ทั้งนี้ต้องมีการวางแผนเรื่องเงินลงทุน ประเภทการลงทุน และการทำสัญญาซื้อขายร้าน และอื่นๆ ควรขอคำแนะนำที่ถูกต้องจากทนายตั้งแต่เนิ่นๆจะได้เตรียมเอกสารและทำทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *