1. จำนวนเงินลงทุน จริงๆแล้วอิมมิเกรชั่นไม่ได้กำหนดตัวเลขเงินลงทุนขั้นต่ำเอาไว้ค่ะ แต่สำนักงานเราแนะนำให้มีอย่างน้อย ๆ $40,000 อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ลงทุนมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนนี้ไปแล้วเท่าไหร่ก็ขึ้นกับประเภทธุรกิจ และแผนทางธุรกิจ (Business Plan) ที่จะยื่นต่ออิมมิเกรชั่น
2. แหล่งที่มาของเงินลงทุน เงินที่นำมาลงทุนต้องสามารถพิสูจน์กับอิมมิเกรชั่นได้ว่าเราได้รับมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย
โดยที่จำเป็นที่จะต้องมีเอกสารพิสูจน์เพื่อให้อิมมิเกรชั่นเห็นว่าเงินที่เรานำมาลงทุนนั้นมาจากแหล่งเงินที่ขาวสะอาด
3. รูปแบบการลงทุน จะเป็นการ 1) เข้าไปซื้อหุ้นอย่างน้อย 50% จากหุ้นส่วนเดิม (share purchase) ของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว หรือ 2) เซ็งร้าน 100% (take-over) หรือ 3) ทำร้านขึ้นใหม่ (start-up) ก็ได้ค่ะ แต่ไม่ว่ากรณีไหนให้มีเงินลงทุนอย่างน้อย $40,000 ค่ะ
4. ประเภทธุรกิจ ทำธุรกิจอะไรก็ได้ค่ะที่ถูกต้องตามกฎหมาย คนไทยมักจะนิยมทำร้านอาหารไทย ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านสปา คาเฟ่ ธุรกิจ shipping ธุรกิจให้คำปรึกษา หรือบริการต่างๆ
5. หุ้นส่วนทางธุรกิจ จะมีหุ้นส่วนคนอเมริกันหรือคนที่ถือกรีนการ์ดหรือจะไม่มีหุ้นส่วนก็ได้ค่ะ
6. การจ้างพนักงาน กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเจ้าของธุรกิจต้องจ้างพนักงานก่อนถึงจะยื่นขอวีซ่านักลงทุนได้ แต่เจ้าของธุรกิจต้องมีเอกสารประกอบเพื่อพิสูจน์ว่าธุรกิจคุณไม่ใช่ธุรกิจขนาดเล็กจนเกินไป และคุณมีความประสงค์จะจ้างงานพนักงานคนอเมริกันหลังจากที่คุณได้วีซ่านักลงทุนแล้ว หมายความว่าธุรกิจนั้นต้องเป็นธุรกิจที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอเมริกาและสร้างรายได้ให้คนอื่นนอกจากเจ้าของธุรกิจและครอบครัว
7. การจ้างพนักงานจากประเทศไทยเพื่อเข้ามาทำงาน สามารถยื่นเรื่องให้พนักงานจากไทยมาทำงานกับผู้ลงทุนได้ โดยที่ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตรงตามกับตำแหน่งที่ยื่น เช่น มีประสบการณ์ทำงาน หรือเรียนจบมาด้านนั้นๆโดยตรง โดยที่ยื่นเรื่องได้หลังจากที่เรื่องนักลงทุนหลักผ่านเรียบร้อยแล้ว
8. ระยะเวลาเตรียมเอกสารและรอผล ไม่ว่าจะยื่นขอวีซ่าจากไทยหรือทำเรื่องเปลี่ยนสถานะในอเมริกา ระยะเวลาเตรียมเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ รวมๆแล้วประมาณสองถึงสี่เดือนค่ะ
9. ผู้ติดตาม ครอบครัวของนักลงทุนที่สามารถยื่นเรื่องติดตามได้คือ สามี ภรรยา และลูกที่มีอายุไม่เกิน 21 ปี สามีภรรยาสามารถยื่นเรื่องขอใบทำงาน โดยสามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้ในอเมริกา ส่วนลูกได้เรียนโรงเรียนรัฐบาลฟรีจนถึงอายุ 21 ปี
10. ขอวีซ่าจากไทยหรือทำเรื่องเปลี่ยนสถานะในอเมริกา เอกสาร ค่าดำเนินการและระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก ส่วนที่แตกต่างกันหลักๆคือ
- การยื่นขอเปลี่ยนสถานะในอเมริกา ผู้ยื่นไม่ต้องไปสัมภาษณ์ที่อิมมิเกรชั่น ในทางตรงกันข้าม การขอวีซ่าจากประเทศไทย ผู้ยื่นต้องไปสัมภาษณ์ที่สถานฑูต
- การยื่นขอเปลี่ยนสถานะในอเมริกา จะเหมาะกับผู้ที่ไม้ได้ต้องการเดินทางเข้าออกอเมริกา โดยหลักแล้วอิมมิเกรชั่นจะให้สถานะกับผู้ยื่นขอเปลี่ยนสถานะเป็นเวลาสองปี ซึ่งต่อได้เรื่อยๆตราบที่ยังประกอบธุรกิจอยู่ ถ้าไม่เดินทางออกเลยตลอดสองปี ก็ไม่ต้องไปขอวีซ่าที่ไทยค่ะและต่ออายุที่อเมริกาได้เลยพอครบสองปี แต่ถ้าเดินทางออกจากอเมริกาในระหว่างสองปีนี้ ผู้ยื่นต้องไปทำเรื่องขอวีซ่านักลงทุนที่สถานฑูตอเมริกาที่ประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางกลับเข้ามาอเมริกาเพื่อบริหารธุรกิจต่อ มีหลายๆท่านถามว่าการขอวีซ่านี้ยากมากมั้ย หากเรื่องเปลี่ยนสถานะในอเมริกาผ่านแล้ว ตอบนะคะว่าไม่ยากหากมีเอกสารครบและธุรกิจยังดำเนินอยู่ตามปกติ
สำหรับคนที่ยื่นขอวีซ่าจากที่ประเทศไทย โดยปกติสถานฑูตจะให้วีซ่าเป็นระยะเวลาหกเดือน หมายความว่าผู้ถือวีซ่าต้องเดินทางเข้ามาอเมริกาภายในหกเดือนนั้น เมื่อมาถึงอเมริกา ตม จะประทับตราให้อยู่ได้สองปีหลังจากวันที่เดินทางเข้ามาค่ะ และถ้าต้องการเดินทางเข้าออกระหว่างหกเดือนนั้นก็สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องการเดินทางหลังจากที่วีซ่าหมดอายุแล้ว ก็เดินทางได้เพียงแต่ต้องไปยื่นขอวีซ่าอีกครั้งก่อนจะเดินทางกลับเข้ามาอเมริกา